พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯโปรดเกล้า อัญเชิญผ้าไตร น้ำสรง ฯลฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พ.อ.อ.อิทธิศักดิ์ ศรีสังข์ ประจำสำนักพระราชวังพิเศษระดับ 10 อัญเชิญผ้าไตร น้ำสรง พุ่มบัว พร้อมเครื่องสักการะ พระราชทาน ถวายแด่ พระราชวชิรเวที (บรรจบ ขนฺติโก) ณ มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย ต.รางพิกุล อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เนื่องในวาระวันคล้ายวันเกิด 4 พ.ค. 2568
ที่มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย ต.รางพิกุล อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.อ.อิทธิศักดิ์ ศรีสังข์ ประจำสำนักพระราชวังพิเศษระดับ 10 อัญเชิญผ้าไตร น้ำสรง พุ่มบัว พร้อมเครื่องสักการะ พระราชทาน ถวายแด่ พระราชวชิรเวที (บรรจบ ขนฺติโก) ณ มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย เนื่องในวาระวันคล้ายวันเกิด 4 พ.ค. 2568 พระราชวชิรเวที (บรรจบ ขนฺติโก) ผู้รักษาที่ดิน 36 ไร่ สร้างสิ่งฝัน อยู่ท่ามกลางทุ่งนา ปลูกต้นไม้ จนมีสภาพเป็นป่ากลางทุ่งนา อยู่เพียงลำพังรูปเดียว ตลอด 15 ปี โดยความเป็นมาของผืนดินแปลงอัศจรรย์แห่งนี้ (มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย) จากทุ่งนา ต.รางพิกุล อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ภายใน 4 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2564) ได้รับการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยสามเณร ที่เปิดการเรียนการสอน Pali English Program แห่งแรกในประเทศไทย หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 พระมหาบรรจบ ขนติโก เมื่อครั้งจำพรรษา ณ วัดหทัยนเรศวร์ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีนิมิตผืนดินปรากฏหลังทำวัตร สวดมนต์ เจริญจิตภาวนาแล้วอย่างสม่ำเสมอ ได้ปรารภกับศิษย์ยานุศิษย์เกี่ยวกับผืนดินทุ่งนาอยู่บ่อยครั้ง และได้รับนิมนต์ให้เดินทางมาที่ดิน ณ ต.รางพิกุลแห่งนี้ จึงพบว่า ที่ดินแปลงนี้มีลักษณะคล้ายกับที่ปรากฏในนิมิต ศิษย์ยานุศิษย์นำโดย ดร.กัสส์กุญช์ โสภณอนันต์กิจ ได้ซื้อที่ดินจำนวน 36 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา โดยมีเจตนาร่วมกันว่าจะสร้างเป็นวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนา
ต่อมา ปี 2553 ดร.ภัสส์กุญช์ ได้สร้างกุฏิที่พักสงฆ์ถวาย 1 หลัง ในวันฉลองกฏิ ถวายปัจจัยเพิ่มอีก 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) เพื่อให้สร้างวัดตามเจตนารมณ์ แต่พระมหาบรรจบ ขนติโก ให้ยุติการก่อสร้างทั้งหมด โดยยึดนิมิตเสียงที่เกิดขึ้นหลังจากทำวัตรสวดมนต์ เจริญจิตภาวนา มีเสียงมากระซิบว่า "ท่านไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวผู้มีศักดิ์ มาทำเอง ไม่ใช่มาทำให้นะ ท่านจะมาทำเอง ผมก็นั่งรอ ๆ ตามเสียงมากระซิบ" พระมหาบรรจบ ขนติโก จึงได้ปิดบริเวณพื้นที่ดิน ไม่ให้ใครเข้ามายุ่งเกี่ยวและอยู่เพียงลำพัง มีศิษย์ที่คุ้นเคยไม่กี่คนเท่านั้นที่ไปมาหาสู่ พร้อมปลูกต้นไม้อย่างเดียว จากผืนนาก็กลายสภาพเป็นป่า จนถึงปี 2562 ท่านจึงได้ปิดวาจาและไม่พูดจากับใครทั้งสิ้น คุยกับศิษย์ที่คุ้นเคยกันเพียงไม่กี่คน คือ นายสวัสดิ์ พุ่มมาก และคณะเท่านั้น ผู้มาสร้างฝันให้เป็นจริง.... ในปี 2562 พระธรรมวชิราจารย์ และ รศ.ดร.เวทย์ บรรณกรกุล ได้เริ่มต้นพากันหาที่สร้าง โรงเรียนศากยบุตรสามเณรสีหะ Pali English Program โดยการสนับสนุนอุปถัมภ์ของ พ.ท. ดร.ไพโรจน์ พนารินทร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสถานศึกษาบาลีพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ หลักสูตร "เตปิฏกบาลีศากยสีหะ" ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน จนถึงปริญญาเอก เปิดการเรียนสอน สร้างศาสนทายาท ตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อให้เข้าถึงพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง และฝึกอบรมจิต เจริญปัญญา ด้วยพระกรรมฐานเผยแผ่พระศาสนาสู่สากล เป็นสถานศึกษา สำหรับสามเณรแห่งแรกในประเทศไทย ได้รับการบริจาคที่ดิน 36 ไร่ จากหลวงพ่อพระมหาบรรจบ โดยการแนะนำของ ดร.ภัสส์กุญช์ โสภณอนันต์กิจ ผู้ซื้อที่ดินถวายตั้งแต่ปี 2551
น้อมรับพระมหากรุณาธิคุณ...เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้า ปกกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย" ราชวิทยาลัยเฉลิมพระเกียรติ ในพระราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 70 พรรษา ในปี พ.ศ. 2565 จัดสร้างเพื่อสนองพระราชปุจฉา เมื่อ 8 เม.ย. 2564 "จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไรให้เข้าถึงพระไตรปิฎก"วันที่ 6 เม.ย. 2565 ซึ่งตรงกับวันจักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามว่า “มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย” มีความหมายว่า ราชวิทยาลัยเพื่อการศึกษาคัมภีร์บาลีเถรวาทในรัชสมัยของพระเจ้าแผ่นดิน พระนามว่า “มหาวชิราลงกรณ” และทรงมีพระราชศรัทธาพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบสร้าง 100 ล้านบาท ปัจจุบัน มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย มีเนื้อที่ 170 ไร่เศษ มีพระสงฆ์สามเณร นักเรียน บุคลากร เจ้าหน้าที่ จำนวน 200 รูป/คน ปฏิบัติงาน ศึกษาเล่าเรียนบาลีพระไตรปิฎก Pali English Program ทั้งนี้ท่านสามารถร่วมบุญอุปถัมภ์การศึกษา คัมภีร์บาลีเถรวาท พื้นฐานบาลีพระไตรปิฎก ได้ที่ ธ.กรุงไทย สาขากำแพงแสน ชื่อบัญชี มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย เลขที่ : 726-0-76552-6 ผู้รับผิดชอบโครงการ พระธรรมวชิราจารย์ รศ.ดร. 092-694-8883 รศ.ดร. เวทย์ บรรณกรกุล 081-943-2665
ภาพ/ข่าว
ผู้สื่อข่าว นายพิสิษฐ์ ปานวณิชยกิจ (5 พ.ค.68)
ภาพ น.ส.ศิวาพร ศรีศิวานุวัฒน์ (จ.นครปฐม)
สนับสนุนข่าวโดย