นครปฐม - ปชช.หลั่งไหลทำบุญกฐินสามัคคีวัดอ้อน้อย กว่า 8 ล้านบาท
ประชาชนจากทั่วประเทศ ยังคงศรัทธาต่อองค์หลวงปู่พุทธอิสระ ต่างมาร่วมงานทำบุญทอดกฐินสามัคคีอย่างเนืองแน่น โดยมีบริษัท หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชน เป็นเจ้าภาพกฐินจำนวนมาก ซึ่งปีนี้สามารถทำยอดสูงกว่า 8,000,000 บาท
วันนี้ที่วัดอ้อน้อยธรรมอิสระ ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ได้จัดให้มีพิธีทำบุญทอดกฐินสามัคคีขึ้น ณ ศาลาปฏิบัติธรรม โดยมีหลวงปู่พุทธอิสระ ประธานมูลนิธิธรรมอิสระ เป็นองค์ประธานกฐิน ประจำปี 2567 ซึ่งบรรยากาศก็เป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ มาร่วมทำบุญและเป็นเจ้าภาพกฐินจำนวนมาก ทั้ง ในรูปของบริษัท และหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อถึงเวลาหลวงปู่ก็ได้มายังบริเวณด้านหน้าศาลาปฏิบัติธรรม ประชาชนต่างก็เข้าไปถวายปัจจัยและสิ่งของต่างๆให้แก่หลวงปู่กันอย่างถ้วนหน้า จากนั้นหลวงปู่ก็ได้ประกอบพิธีทางศาสนา ประชาชนต่างนำผ้ากฐิน พุ่มกฐิน และสิ่งของต่าง ๆ ถวายแด่พระสงฆ์ ซึ่งยอดกฐินปีนี้เบื้องต้น จำนวน 8,725,213 บาท ทั้งนี้ยังไม่รวมยอดเงินจากธนาคารฯ บางส่วนที่กำลังดำเนินการตรวจเช็คอยู่
สำหรับงานบุญใหญ่ที่จัดเป็น “กาลทาน” คือ ทานที่ถูกกำหนดด้วยเวลา มีเพียงปีละครั้ง ต้องทำภายในเวลา 30 วัน หรือจำง่ายๆว่า หลังวันออกพรรษาจนถึงวันลอยกระทง เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสงฆ์ฯและญาติโยมจะได้ร่วมแรงร่วมใจกันสานต่อประเพณีอันดีงาม ที่เริ่มมาจาก “พระพุทธเจ้า” “จุดเริ่มต้น” เมื่อครั้งพุทธกาล มีพระสงฆ์จำนวน 30 รูป ต้องการเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้วยระยะทางที่ไกล และยังมีฝนตกลงมา ทำให้จีวรของพระสงฆ์เหล่านั้นเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลน เมื่อพระพุทธเจ้าได้เห็นแล้ว จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ทั้งหลายได้อยู่ต่ออีก 30 วันหลังจากออกพรรษาแล้ว เพื่อรอรับกฐิน โดยมีนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นผู้ที่ได้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก “ผ้ากฐินหาได้ยาก” ในสมัยนั้น การหาผ้าสำหรับมาทำเป็นผ้ากฐิน หาได้ยาก และไม่เพียงพอต่อจำนวนพระภิกษุสงฆ์ฯ จึงได้มีการมอบให้กับพระผู้มีจีวรเก่ากว่าเพื่อน และฉลาดในพระธรรมวินัยเป็นผู้ได้รับผ้ากฐิน ท่ามกลางความยินดีในหมู่สงฆ์ด้วยกัน “หัวใจสำคัญ”
ผ้ากฐิน แท้ที่จริงแล้ว คือ ผ้าขาว ที่พระสงฆ์ทุกรูปจะช่วยกันนำมาตัด เย็บ ย้อม ด้วยมือ จนได้เป็นผ้าไตร หรือ ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง โดยสมบูรณ์ และมีกำหนดเวลาว่าจะต้องทำให้เสร็จก่อนเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อนำผ้านั้น ไปถวายให้กับพระสงฆ์ที่เห็นสมควรต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นคือ ภาพความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ที่มาร่วมกัน ตัด เย็บ ย้อมผ้าให้เสร็จทันเวลา แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังทรงช่วยสนเข็ม และเป็นแบบอย่างของความ สามัคคีกลมเกลียวกัน
แม้ในปัจจุบันจะมีการถวายผ้าไตรสำเร็จรูป แต่ก็ยังต้องมีการถวายผ้าขาวซึ่งเป็นองค์กฐินหลักควบคู่กันไปด้วย “บริวารกฐิน” นอกจากผ้ากฐินแล้ว สิ่งของถวายอื่นๆ จะถือเป็นบริวารกฐิน ทั้งหมด เช่นของถวายพระประเภทต่างๆ รวมไปถึง พุ่มเงินกฐินจากเจ้าภาพที่ร่วมทำบุญ ก็ถือเป็นบริวารกฐินเช่นกัน “กฐินสามัคคี” ไม่ใช่เพียงแต่พระภิกษุสงฆ์ฯ ที่จะได้ร่วมกันแสดงน้ำใจ มีความสามัคคีและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนงานกฐินสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ฆราวาสญาติโยมเองก็ให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของ “การทอดกฐิน” มาร่วมแรงร่วมใจกันจัดเตรียมผ้ากฐิน และ บริวารกฐินกันอย่างประณีตสวยงามจนสำเร็จลุล่วงได้ เพราะ ความสามัคคี ที่มีแบบอย่างมาจากพระพุทธเจ้านั่นเอง
ผู้สื่อข่าว-ภาพ นายพิสิษฐ์ ปานวณิชยกิจ จ.นครปฐม
ผู้ช่วยข่าว นายธนันท์รัฐ เย็นนะภา (2 พ.ย.67)